หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

จดหมายจากในหลวงถึงพระเทพฯ


ลูกพ่อ...ในพื้นแผ่นดินนี้ทุกสิ่งเป็นของคู่กันมาโดยตลอด มีความมืดและความสว่าง ความดีและความชั่ว  ถ้าให้เลือกในสิ่งที่ตนชอบแล้ว..ทุกคนปรารถนาความสว่างปรารถนาความดีด้วยกันทุกคน.... แต่ความปรารถนานั้นจักสำเร็จลงได้ จักต้องมีวิธีที่จักดำเนินให้ไปถึงความสว่าง หรือความดีนั้น  ทางที่จักต้องไปให้ถึงความดีก็คือ  รักผู้อื่น เพราะความรักผู้อื่น สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ถ้าให้โลกมีแต่ความสุขและเกิดสันติภาพ ความรักผู้อื่นจักเกิดขึ้นได้...พ่อขอบอกลูกดังนี้

1. ขอให้ลูกมองผู้อื่นว่า เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าอดีต...ปัจจุบัน...อนาคต

2. มองโลกในแง่ดี และจะให้ดียิ่งขึ้น ควรมองโลกจากความเป็นจริง อันจักเป็นทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม

3. มีความสันโดษ คือ มีความพอใจเป็นพื้นฐานของจิตใจ พอใจตามมีตามได้ คือได้อย่างไร ก็เอาอย่างนั้น ไม่ยึดติด ขอให้คิดว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ พอใจตามกำลัง คือมีน้อยก็พอใจตามที่ได้น้อย ไม่เป็นอึ่งอ่างพองลมจะเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง  พอใจตามสมควร คือทำงานให้มีความพอใจเหมาะสมแก่งาน  ให้ดำรงชีพให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน

4. มีความมั่นคงแห่งจิต คือ ให้มองเห็นโทษของความเกียจคร้าน และมองเห็นคุณประโยชน์ของความเพียร และเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้ภาวนาว่า...มีลาภ มียศ สุขทุกข์ปรากฏ สรรเสริญนินทา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นกฎธรรมดา อย่ามัวโศกานึกว่า 'ชั่งมัน'

พ่อ 6/10/2547...

ฉันรักพ่อฉันจัง
สิรินธร....

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

จะเลือกสุข หรือ เลือกทุกข์


ขณะที่กำลังกินอาหารเช้าด้วยความเร่งรีบ ลูกสาววัย ๑๐ ขวบเผลอทำแก้วตกแตก นมนองพื้น พ่อจึงต่อว่าลูกอย่างรุนแรง ลูกสาวถึงกับหน้าเสีย แก้ตัวได้ไม่กี่คำก็ร้องไห้เมื่อถูกพ่อโต้กลับมา แม่เห็นเช่นนั้นจึงต่อว่าสามีว่าทำไมใช้อารมณ์กับลูก สามีจึงหันมาโต้เถียงกับภรรยา ปะทะคารมพักใหญ่ก็นึกได้ว่าสายแล้ว สามีรีบไปเอากระเป๋าเอกสารจากห้องทำงาน แล้วพาลูกขึ้นรถไปด้วยกัน

เป็นเพราะเขาออกจากบ้านช้ากว่าปกติ จึงเจอรถติดเป็นแพยาวเหยียด ผลก็คือไปส่งลูกสาวสาย ส่วนเขาเองก็ถึงที่ทำงานช้า ร้ายกว่านั้นก็คือในการประชุมนัดสำคัญเช้านั้น เขาลืมหยิบเอกสารชิ้นสำคัญใส่กระเป๋าตอนออกจากบ้าน การเจรจากับลูกค้าจึงไม่ประสบผล เขาถูกเจ้านายต่อว่า จึงหัวเสียและหงุดหงิดใส่เพื่อนตลอดวัน

ด้วยความที่อารมณ์ค้างมาจากที่ทำงาน จึงขับรถเฉี่ยวชนขณะกลับบ้าน เสียเวลาไปอีกร่วมชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน พอเห็นหน้าภรรยากับลูกสาวเขาก็โวยวายใส่ทั้งสองคนว่าเป็นสาเหตุทำให้เขาไปทำงานสายจนเสียงานเสียการ

คืนนั้นเขากับภรรยาจึงโต้เถียงกันต่อ ส่วนลูกสาวก็เก็บตัวอยู่แต่ในห้องด้วยความรู้สึกกดดัน กว่าความสงบจะกลับคืนมาสู่บ้านนี้ก็ดึกแล้ว แต่ใจของทั้งสามคนยังคงร้อนรุ่มตลอดทั้งคืน

ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ด้วยตนเองอดไม่ได้ที่จะคิดว่าวันนั้นเป็นวันที่เขา “ซวย” อย่างยิ่ง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีมันไม่ใช่เป็นเรื่องของคราวเคราะห์แต่อย่างใด เหตุการณ์ย่ำแย่ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวันนั้นเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์บนโต๊ะอาหารเช้านั้น

ดูเหมือนว่าการที่ลูกสาวทำแก้วตกแตกด้วยความเผอเรอนั้นคือจุดปะทุที่ทำให้สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ตามมามากมาย แต่ความจริงแล้วจุดสำคัญอยู่ตรงที่พ่อคุมอารมณ์ไม่อยู่ต่างหากจนเผลอตัวพูดรุนแรงใส่ลูก

พ่ออดไม่ได้ที่จะโทษความซุ่มซ่ามของลูกสาวว่าเป็นสาเหตุของความ “ซวย”ทั้งมวลที่เกิดกับเขาในวันนั้น แต่ที่จริงหากพ่อไม่โมโหใส่ลูก เหตุการณ์ต่าง ๆ ในวันนั้นก็จะไม่เป็นอย่างที่ได้พรรณนาข้างต้น

เราลองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์บนโต๊ะอาหารอีกครั้ง เมื่อลูกทำแก้วน้ำแตก ถ้าหากว่าพ่อตั้งสติได้ทัน ก็จะคุมอารมณ์และคำพูดได้อยู่ แทนที่จะด่าว่าลูก ก็สอนให้ลูกระมัดระวังมากขึ้น การโต้เถียงกับภรรยาก็จะไม่เกิดขึ้น ทำให้มีเวลาเตรียมตัวไปทำงาน โดยไม่ลืมหยิบเอกสารสำคัญใส่กระเป๋าไปด้วย เนื่องจากเขาออกจากบ้านตรงเวลา จึงไม่เจอรถติด สามารถส่งลูกและถึงที่ทำงานตามเวลา เมื่อเข้าประชุมเขาก็มีเอกสารมาแสดงครบครัน การประชุมนัดสำคัญจึงจบลงด้วยดี เขาได้รับคำชมจากเจ้านาย วันนั้นเขาจึงทำงานด้วยความสบายใจ รู้สึกโปร่งโล่ง งานจึงออกมาดี เย็นนั้นเขาขับรถถึงบ้านอย่างราบรื่น เจอหน้าภรรยากับลูกสาวก็พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน คืนนั้นทุกคนเข้านอนอย่างมีความสุข

เห็นได้ว่าปฏิกิริยาของพ่อเมื่อเห็นลูกทำแก้วแตก สามารถจะนำไปสู่เหตุการณ์สองแบบที่ตรงข้ามกัน เหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่ปัญหาและความทุกข์ อีกเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่ความราบรื่นและความสุข

จุดที่เป็นขั้วต่อหรือทางแยกนั้นก็คือ ภาวะจิตใจของพ่อเมื่อเห็นแก้วแตก กล่าวคือเป็นภาวะที่มีสติหรือถูกอารมณ์ครอบงำ

ตัวอย่างดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ แต่มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เรามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร หากเราตอบโต้หรือแสดงออกอย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ชักนำไป ก็จะลงเอยด้วยดี และเป็นปัจจัยไปสู่สิ่งดี ๆ ตามมาอีกมากมาย

ในทางตรงข้ามหากเราขาดสติ กระทำด้วยความวู่วามฉุนเฉียว ก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ตามมาเป็นทอด ๆ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเพราะเรา “โชคร้าย” หรือวันนั้นฤกษ์ไม่ดี แต่เป็นผลจากการกระทำของเราเอง

เหตุร้ายในชีวิตบางครั้งก็มีจุดเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในที่สุด จุดเล็ก ๆ นั้นก็คือการกระทำที่ขาดสติของเรานั้นเอง แต่หากเรามีสติเสียแต่ตอนนั้น ก็จะนำไปสู่เหตุการณ์ที่ดีงาม และสร้างความสุขให้แก่เรา

ที่มา: พระไพศาล วิสาโล