"เรื่องจริง ชีวิตจริง ต้องอ่านค่ะ"
ชื่อหลักสูตร "ลองใช้ชีวิตในเมืองใหญ่โดยไม่มีเงิน และไม่มีมือถือ" ระยะเวลา 8 ชั่วโมง
ระหว่าง 09.00-17.00 น. ในวันเสาร์ต้นเดือน
ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยคนทำงานออฟฟิศ หรือมนุษย์เงินเดือน 20 คน ซึ่งถูกกำหนดเงื่อนไขให้ได้เรียนรู้ แบบแสบๆคันๆหัวเราะไม่ออก ขอทุกคนโปรดงดอาหารเช้า แล้วมาพบกันที่หน้าห้างใหญ่ ย่านสยามสแควร์ เงินทอง บัตรเอทีเอ็ม มือถือ ที่พกมาโปรดฝากไว้ที่อาจารย์ ตอนเย็นจะคืนให้
แต่ทุกคนต้องหาวิธีไปถึงจุดนัดพบ ที่หน้าห้างใหญ่ตรงแยกลาดพร้าวในเวลา 17.00 น.
ทุกคนปฏิบัติการด้วยท้องที่หิว ต่างนำพาตัวเองสู่จุดนัดหมาย ด้วยประสบการณ์เฉพาะตนที่ยากจะลืมเลือน
แดง - เล่าว่าเธอพยายามรวบรวมความกล้าไปขอเงินค่ารถเมล์ แต่ใจไม่กล้าพอ เพราะรูปร่างหน้าตาแบบเธอนี่ ใครเขาจะเชื่อว่าไม่มีเงินเลยสักบาท
แต่ด้วยความมุ่งมั่น แดงเดินจากสยามไปถึงแยกลาดพร้าว โดยไม่มีอาหารและน้ำ ตกถึงท้อง
แดง สรุปวีรกรรมของเธอว่าเป็นเรื่อง " ศักดิ์ศรี " ล้วน ๆ เพื่อน ๆ จึงแถมด้วยว่า "ไม่ฉลาด"
เพราะไม่รู้จักขึ้นรถเมล์ฟรีสำหรับประชาชน
ต้อย - แก้โจทย์แรกทำอย่างไรจึงหายหิว ต้อยเล็งแม่ค้าหมูปิ้งท่าทางมีเมตตา
ต้อยเริ่มบรรยายว่าเธอไม่ได้กินข้าวเช้า กำลังจะเป็นลมแล้ว
แม่ค้าสงสารยื่นหมูปิ้งให้สองไม้แถมข้าวเหนียวอีกห่อ ณ นาทีนั้น ต้อยสัญญากับตัวเองว่า
ทันทีที่ภารกิจเสร็จ ได้กระเป๋าสตางค์ของตนคืน จะมาเหมาหมูปิ้งหมดเลย
แต่พอถึงตอนเดินไปขอใช้โทรศัพท์มือถือ จากผู้ที่เดินผ่านไปมา สายตาที่มองต้อยหัวจรดเท้าหรือท่าทีธุระไม่ใช่ของคนเหล่านี้ ต้อย สรุปว่า น้ำใจแห้งแล้งกว่าแม่ค้าหมูปิ้งยิ่งนัก ต้อยบากหน้าขอยืมมือถือกว่าสิบราย
แต่สุดท้ายมีหญิงวัยกลางคนให้เธอยืมมือถือมาโทรฯ ได้สำเร็จ
ต้อยสัญญากับตัวเองเป็นคำรบสองว่าต่อจากนี้ไป ใครมาขอยืมใช้โทรศัพท์มือถือ เธอจะเต็มใจให้ใช้ โดยไม่เกี่ยงงอนใด ๆ เลย นี่คือ คำสัญญาจากต้อย
เอก - พยายามทดสอบน้ำใจผู้คน แต่ไม่มีใครเชื่อว่าชายครบสามสิบสอง ไม่พิกลพิการจะมีหน้ามาแบมือขอเงิน เอกต้องทนหิว ถึงบ่ายแก่ ๆ ไปขอเงินจากนักศึกษาสาวที่มองเอกอย่างพินิจพิเคราะห์อยู่ครู่หนึ่งแล้วเดินจากไป ราวสิบนาทีต่อมา เธอยื่นถุงจากร้านสะดวกซื้อให้เอกโดยไม่พูดสักคำ
เอกรับมาเปิดดู มีเครื่องดื่มเย็นๆ สองขวด แซนวิช และธนบัตรหนึ่งร้อยบาทในถุงนั้น
เอก เล่าว่าอยากจะวิ่งไปขอบคุณนักศึกษาสาวผู้นั้น แต่เธอเดินลับหายไปในฝูงชน
บุญคุณครั้งนี้เอกจะไม่ลืม เงินร้อยบาทที่ได้มาเป็นเงินที่มีค่ากว่าเงินเดือนหลายหมื่น ที่ฝ่ายการเงิน โอนเข้าบัญชีของเอกทุกเดือนซะอีก เอกกำลังคิดว่า ตนจะตอบแทนสังคมที่มีผู้มีน้ำใจได้อย่างไร
วิทยา - เป็นวิทยากรกระบวนการหลักสูตรนี้ แต่ต้องใช้ชีวิตโดยไม่มีเงินและมือถือเช่นเดียวกันกับคนอื่น
วิทยาปล่อยวางและเล่น "เกม" นี้อย่างไม่กดดันตัวเอง แต่พยายามเข้าใจปฏิกิริยาของคนที่เขาไปขอเงิน และพยายามเชื่อมโยงเหตุผลที่ทำให้บางคน "มีน้ำใจ" กว่าคนอื่น
วิทยาได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ใส่ใจรับฟัง หรือจ้องมองดวงตาของวิทยา แต่ผู้คนที่เร่งรีบไม่มีเวลาแม้แต่หยุดฟัง มักเชิดหน้าผ่านไปพร้อมส่งสัญญาณอำมหิต
แปลความได้ว่า...ชีวิตใคร ชีวิตมัน อย่ามายุ่งกับข้า…
ผู้เข้าร่วมทั้ง 20 คนมาถึงจุดนัดหมายด้วย "ตัวช่วย" ต่างกันแต่ทุกคนสรุปตรงกันว่า
ต่อไปตนจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้อย่างเต็มใจเมื่อมีผู้ร้องขอ
เพราะถ้าเราไม่ให้ ไม่ช่วยคนในสังคมแล้ว สังคมที่เราอยู่ร่วมกันนี้ก็คงไม่มีการให้ มีแต่ความเป็นตัวใคร ตัวมัน
หลักสูตรครึ่งวันนี้ได้ชี้ทางว่า เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร ?
จาก หนังสือ สานพลัง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชา ติ คอลัมน์ เล็กไปใหญ่ โดย
นายแพทย์ ชาตรี เจริญศิริ