หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563

ไม้คานปิดทอง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหนุ่มจีน ๒ คน ชื่อเฮง กับเจ็ง เดินทางจากเมืองจีนมาเมืองไทยแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ”  สองคนมีทุนติดตัวมานิดหน่อย ไม่พอที่จะทำอื่นได้ จึงทำอาชีพรับซื้อขวดขาย อาศัยพักใต้ถุนกุฏิวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อเจ้าอาวาส

อุปกรณ์รับซื้อขวดก็มีหลัวคู่หนึ่ง ไม้คานอันหนึ่ง 
เช้าขึ้นมาก็หาบหลัวไปตามบ้านผู้คน รับซื้อขวดเปล่าเอาไปขายต่อให้โรงงาน

อาชีพนี้คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยสมัยนั้นน่าจะทำกันทั่วไป เมื่อเป็นเด็กๆ ยังเคยได้ยินเสียงร้อง “มีขวดมาขาย” และคำเรียก “เจ๊กขายขวด” ติดหูมาจนทุกวันนี้

เจ๊กเฮงกับเจ็กเจ็งเข้าหุ้นกันรับซื้อขวดขาย ทำสัญญาใจกันว่า ถ้ามีกำไรยังไม่ถึง ๘๐ ชั่ง จะไม่กินเป็ดกินไก่อันเป็นอาหารที่มีราคาแพง ได้กำไรมาก็เอาไปฝากหลวงพ่อไว้เหมือนกับเป็นธนาคาร

วันหนึ่ง ระหว่างหาบหลัวซื้อขวด เจ๊กเจ็งไปแวะพักที่ข้างโรงบ่อน แล้วเลยเข้าไปเล่นโป เผอิญเล่นได้ จึงเอาเงินที่เล่นโปได้ไปซื้อเป็ดไก่กินด้วยความอยาก แล้วยังซื้อไปฝากเจ๊กเฮงด้วย 

เจ๊กเฮงเห็นว่าเจ๊กเจ็งผิดสัญญาเพราะเงินกำไรยังมีไม่ถึง ๘๐ ชั่ง จึงขอแยกทาง แบ่งเงินที่ฝากหลวงพ่อไว้คนละครึ่งแล้วต่างคนต่างไป

เจ๊กเฮงยังคงหาบหลัวซื้อขวดขายต่อไปด้วยความอดทน จนมีทุนมากขึ้นก็ค่อยขยับขยายกิจการค้าขาย ได้เมียเป็นไทย มีลูกก็ช่วยกันทำมาหากิน จนในที่สุดก็ร่ำรวยเป็นเศรษฐี 

เศรษฐีเฮงมีแก่ใจช่วยอุดหนุนกิจการสาธารณกุศลของทางบ้านเมืองเสมอ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา

พระยาเฮงเป็นคนกตัญญู เมื่อร่ำรวยแล้วก็กลับไปอุปถัมภ์บำรุงวัดที่ตนเคยได้อาศัย และที่สำคัญคิดถึงคุณของไม้คานเป็นที่ยิ่ง ได้เอาไม้คานที่เคยใช้หาบหลัวมาปิดทอง ใส่ตู้ไว้เป็นอย่างดีในที่บูชา

นอกจากนี้ด้วยความที่เคยอดอยากยากจนมาก่อน พระยาเฮงได้ตั้งโรงทานไว้ที่หน้าบ้าน หุงข้าวเลี้ยงคนโซทุกเช้า

ฝ่ายเจ๊กเจ็ง แยกทางกับเพื่อนแล้ว ได้เงินส่วนแบ่งมาก้อนหนึ่ง ก็ไม่เป็นอันที่จะคิดทำอาชีพขายขวดอีก หวนกลับไปเล่นการพนัน ในที่สุดก็หมดตัว สิ้นท่าเข้าก็เลยยึดอาชีพขอทาน 

วันหนึ่งเจ๊กเจ็งโซซัดโซเซไปถึงโรงทานของพระยาเฮง  พระยาเฮงจำเพื่อนได้ ก็ให้บ่าวไปเรียกมา 
เจ๊กเจ็งจำเพื่อนไม่ได้เพราะราศีพระยาจับเป็นสง่า พระยาเฮงก็ไม่แสดงตัวว่าเป็นเพื่อนเก่า สั่งให้รับเจ๊กเจ็งไว้เป็นคนทำสวน

ในสวนบ้านพระยาเฮงมีต้นมะขาม ๒ ต้น ต้นหนึ่งเล็ก ต้นหนึ่งใหญ่  พระยาเฮงออกกฎให้เจ๊กเจ็งกินเฉพาะข้าวกับปลาเค็มต้มใบมะขามอ่อน ให้หุงหากินเอง ข้าวกับปลาเค็มให้เบิกจากโรงครัว ส่วนใบขะขามให้รูดจากต้นเล็กก่อน ถ้าหมดให้มาบอก

เจ๊กเจ็งรูดใบมะขามต้นเล็กไปต้มกับปลาเค็มได้ไม่กี่วัน ใบมะขามก็หมดต้น ก็บอกพระยาเฮง 
พระยาเฮงสั่งให้รูดจากต้นใหญ่ได้ แต่ให้รูดทีละซีก เมื่อซีกหนึ่งหมดจึงจะรูดอีกซีกหนึ่งได้ ใบมะขามหมดให้มาบอก

เจ๊กเจ็งรูดใบมะขามต้นใหญ่กว่าจะหมดซีกก็เป็นเดือน แล้วก็ไปขออนุญาตรูดจากอีกซีกหนึ่ง 
พอซีกนี้หมด ซีกเก่าก็แตกใบอ่อนทันรูดกินได้อีก ก็ไปรูดจากซีกเก่า กว่าซีกเก่าจะหมด ซีกใหม่ก็แตกใบอ่อนอีก เป็นอันว่ารูดใบมะขามต้มปลาเค็มกินได้ทั้งปี
เจ๊กเจ็งไปเบิกข้าวสารและปลาเค็มจากโรงครัวเป็นระยะๆ แต่ไม่เคยไปบอกว่าใบมะขามหมด

วันหนึ่ง พระยาเฮงให้เรียกเจ๊กเจ็งมาถามว่า ทราบว่าเบิกข้าวสารกับปลาเค็มจากโรงครัวตามปกติ แต่ทำไมไม่เห็นมาขออนุญาตรูดใบมะขาม 
เจ๊กเจ็งก็บอกว่าใบมะขามยังไม่หมดสักที

พระยาเฮงจึงพาเจ๊กเจ็งขึ้นไปบนเล่าเต็ง ชี้ให้ดูไม้คานที่ปิดทองอยู่ในตู้ แล้วถามว่า “ไม้คานของลื้ออยู่ไหนล่ะ”  เจ๊กเจ็งจำเพื่อนได้ ก็ร้องไห้ 

พระยาเฮงบอกว่า ที่ให้กินข้าวกับใบมะขามต้มปลาเค็มก็เพราะจะสอนให้รู้สึกตัว เมื่อเงินยังมีน้อย ถ้ากินใช้หมดก็เหมือนมะขามต้นเล็ก รูดใบกินไม่กี่วันก็หมด แต่ถ้าสะสมไว้ทำทุนให้มีกำไรมากขึ้นก็เหมือนมะขามต้นใหญ่ รูดกินได้ทั้งปีก็ไม่หมด 

“อั๊วะจะให้ทุนลื้อไปเริ่มต้นหาบหลัวขายขวดใหม่เหมือนตอนแรกที่มาจากเมืองจีน ลื้อต้องทำตามที่อั๊วะเคยทำมาอย่างเคร่งคัด”

เจ๊กเจ็งก็ไปเริ่มต้นหาบหลัวซื้อขวดขายตามที่พระยาเฮงแนะนำ ต่อมาก็ได้เป็นเศรษฐีอีกคนหนึ่ง

ในอดีต “ไม้คานปิดทอง” คงจะมีอยู่ตามบ้านของเจ้าสัวทั่วไปในเมืองไทย รุ่นลูกก็ยังคงนับถือบูชาเพราะเคยเห็นเตี่ยใช้หาบหลัวเลี้ยงพวกตนมา ทั้งเคยมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากมาด้วยกัน

แต่เมื่อนานหลายรุ่นเข้า ชั้นปลายแถวไม่เคยเห็นภาพหาบหลัว ไม่รู้ว่าความลำบากยากจนเป็นอย่างไร เกิดมาก็เป็นเศรษฐีแล้ว ไม้คานปิดทองของบรรพบุรุษอาจไม่มีความหมายอะไรแม้แต่น้อย 
บางทีจะมีคนปลายแถวเห็นว่าเป็นของเกะกะรกรุงรังด้วยซ้ำไป

สังคมไทย มีสถาบันบางอย่างที่ถูกคนในปัจจุบันนี้มองเหมือนไม้คาน คือเห็นว่ามีไว้ก็ไม่เห็นจะเป็นประโยชน์อะไร  ไม่ใช่เพราะไม่รู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของชาติ  หากแต่เพราะในหัวใจขาดความตระหนักสำนึกถึงคุณค่า ที่เรียกว่า ความกตัญญูรู้คุณ

แม้ทุกวันนี้จะไม่ต้องใช้ไม้คานหาบหลัวอีกแล้ว แต่ไม้คานก็ยังมีคุณค่าเสมอไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง

กวีวัฒน์