หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ความเมตตาของคุณ ไม่ต้องผ่านการทดสอบ

“ อ่านเรื่องนี้แล้วประทับใจมาก “

"ความเมตตาของคุณ ไม่ต้องผ่านการทดสอบ"

ผู้กำกับชาวบราซิลชื่อดัง  Walter Salles กำลังค้นหาตัวนักแสดงที่เหมาะสมสำหรับภาพนตร์เรื่องใหม่ของเขา "Central do Brasil" หรือ   "Central Station" ในชื่อภาษาอังกฤษ มีผู้มาให้คัดตัวมากมาย  แต่ก็ยังไม่ถูกใจ

วันหนึ่งระหว่างออกไปทำธุระผ่านสถานีรถไฟ  มีเด็กผู้ชายวิ่งมาถามเขาว่า  "ขัดรองเท้าไหมครับ ท่าน"  เขามองดูรองเท้าตัวเอง  ซึ่งก็เพิ่งขัดมาไม่นาน  จึงตอบปฏิเสธไป  แต่เด็กน้อยก็เดินตามเขาไป  พร้อมพูดกับเขาด้วยแววตาวิงวอนว่า  "วันนี้ทั้งวันยังไม่มีเม็ดข้าวตกถึงท้องเลย  อยากขอยืมเงินไปซื้อข้าวกินหน่อย  ผมสัญญาว่าจะจ่ายเงินคืนให้ภายในหนึ่งอาทิตย์ครับ"  เขาเห็นว่ามันเป็นเงินเล็กน้อย  และเหตุการณ์เด็กเร่ร่อนมาขอเงินก็เกิดขึ้นบ่อยๆ  เขาจึงควักเงินให้เด็กน้อยไป

เวลาผ่านไปครึ่งเดือน  เขาลืมเรื่องให้เงินเด็กน้อยไปหมดสิ้นแล้ว  วันนั้นเขาก็ผ่านมาใช้สถานีรถไฟนั้นอีกครั้ง  มีเด็กคนหนึ่งวิ่งมาหาเขาแต่ไกลพร้อมตะโกนว่า  "คุณครับ  รอแป๊ปนึง" เมื่อเด็กน้อยวิ่งมาใกล้แล้ว  เขาจึงจำหน้าเด็กที่เคยมาขอเงินคนนั้นได้  

เด็กน้อยพูดอย่างกระหืดกระหอบว่า  "คุณครับ  ผมมารอคุณตั้งหลายวันแล้ว  ขอบคุณที่ให้เงินผมยืมครับ"  พร้อมยื่นเงินเหรียญหลายเหรียญคืนใส่มือของเขา  เขามองดูเหรียญในมือ บังเกิดความรู้สึกดีๆกับเด็กน้อยคนนี้

ผู้กำกับก้มมองดูหน้าเด็กน้อยอย่างพินิจพิเคราะห์  เกิดความรู้สึกว่า  เด็กคนนี้  ช่างหมาะกับบุคลิก "เด็กน้อย"ในภาพยนตร์ของตนที่กำลังค้นหานักแสดงอยู่  เขาพูดกับเด็กน้อยด้วยรอยยิ้มว่า  "พรุ่งนี้หนูลองมาทดสอบหน้ากล้องที่บริษัทหน่อย  อาจทำให้หนูมีโอกาสได้ดีใจครั้งใหญ่ในชีวิต"

รุ่งขึ้นตอนเช้า  พนักงานขึ้นมารายงานผู้กำกับว่า  มีเด็กกลุ่มใหญ่มารออยู่หน้าประตูบริษัท  เขาออกไปดูเหตุการณ์  ก็พบเด็กน้อยวิ่งมาหาเขาด้วยความตื่นเต้นพร้อมพูดกับเขาว่า  "คุณครับ  เด็กเหล่านี้ก็เป็นเด็กเร่ร่อนเหมือนผมที่ไม่มีพ่อแม่  ผมอยากขอให้พวกเขามีโอกาสได้ดีใจแบบเดียวกับผมบ้าง เลยชวนมาทั้งหมด  อยากขอโอกาสให้พวกเขาทุกคนด้วยครับ" ผู้กำกับรู้สึกตื้นตันในน้ำใจของเด็กคนนี้

เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่า  จะได้เจอเด็กเร่ร่อนที่มีจิตใจเมตตาปราณีได้ดีงามถึงเพียงนี้  ในเมื่อพวกเขาก็มาพร้อมกันอยู่ที่นี่แล้ว  เขาจึงสั่งให้ลูกน้องจัดการทดสอบหน้ากล้องพร้อมทดสอบการแสดงออกของเด็กทั้งกลุ่ม  ในที่สุด  เด็กหลายคนถูกคัดเลือกออกมา  พวกเขาดูมีความพร้อมและเหมาะสมกว่าเด็กน้อยคนนั้นของผู้กำกับเสียอีก

แต่สุดท้าย  ผู้กำกับก็ตัดสินใจเลือกเด็กน้อยคนเดิมไว้

เขาบรรจงเขียนข้อคิดเห็นบนข้อมูลเด็กน้อยคนนั้นว่า  "ความเมตตา ไม่ต้องผ่านการทดสอบ"

เด็กน้อยที่มีอายุแค่ประมาณสิบขวบ  แม้ชีวิตจะอยู่ในภาวะขัดสน  แต่กลับยอมนำเอาโอกาสดีๆของตนมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ  นี่ช่างเป็นความเมตตาที่งดงามและยิ่งใหญ่จากมนุษย์ตัวน้อยๆคนนี้  เขาแน่ใจว่า  เด็กน้อยคนนี้แค่ใช้ตัวตนที่แท้จริงของตัวเองแสดงออกมา  แค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับบทบาท"เด็กน้อย"ในภาพยนตร์ของเขาโดยไม่ต้องมีการปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น

แล้วเด็กน้อยก็สามารถตีบทแตกอย่างสุดยอดในบทบาทที่น่าประทับใจที่สุด

ภาพยนตร์ได้กวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆทั่วโลกรวม 36 รางวัล (1998-99) มีแต่เสียงชื่นชมจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์  เด็กน้อยกลายเป็นนักแสดงที่ดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน  และสามารถกลายเป็นนักแสดงยอดนิยมของประเทศบราซิลอยู่ยาวนาน 

หลายๆปีผ่านไป  เด็กน้อยที่บัดนี้โตเป็นผู้ใหญ่ ได้กลายเป็นนักแสดงระดับแนวหน้า  และยังเป็นประธานบริษัทในวงการภาพยนตร์  เขาผู้นั้นคือ  Viniclus de Oliveira  

"ชีวิตการแสดงของข้าพเจ้า" คือหนังสือที่นักแสดงผู้นี้แต่งขึ้นมาเพื่อบันทึกชีวประวัติส่วนตัวของเขา  เขาขอให้ผู้กำกับที่มีพระคุณที่สุดในชีวิตเขาเป็นคนให้เกียรติเขียนคำนำสำหรับหนังสือเล่มนี้ของเขา  

ผู้กำกับ Walter Salles 
บรรจงเขียนข้อความจากใจว่า

"ความเมตตาของคุณ 
ไม่ต้องผ่านการทดสอบ

ความเมตตา  ทำให้คุณพยายามยื่นโอกาสดีๆในชีวิตแบ่งปันให้กับคนอื่น

และก็คือความเมตตาของคุณเช่นเดียวกัน  ที่ทำให้คุณได้รับโอกาสดีๆมากมายไปเป็นรางวัลชีวิต"

เขายังคงความเมตตาสมัยเป็นเด็กน้อยไม่ขาดหาย
แต่เจริญรุ่งโรจน์ในเส้นทางชีวิตอย่างน่าชื่นใจ

        ********

คนที่มีใจเมตตาปราณี
ชะตาชีวิตมักจะไม่เลวร้าย
อาจจะตกต่ำไปบ้างในบางจังหวะชีวิต
แต่สุดท้ายโอกาสดีๆก็จะเข้ามาให้ได้ประสบพบเจอในเส้นทางชีวิตแน่นอน

"ขจรศักดิ์"
แปลและเรียบเรียง
www.facebook.com/Flintlibrary

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563

ไม้คานปิดทอง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหนุ่มจีน ๒ คน ชื่อเฮง กับเจ็ง เดินทางจากเมืองจีนมาเมืองไทยแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ”  สองคนมีทุนติดตัวมานิดหน่อย ไม่พอที่จะทำอื่นได้ จึงทำอาชีพรับซื้อขวดขาย อาศัยพักใต้ถุนกุฏิวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อเจ้าอาวาส

อุปกรณ์รับซื้อขวดก็มีหลัวคู่หนึ่ง ไม้คานอันหนึ่ง 
เช้าขึ้นมาก็หาบหลัวไปตามบ้านผู้คน รับซื้อขวดเปล่าเอาไปขายต่อให้โรงงาน

อาชีพนี้คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยสมัยนั้นน่าจะทำกันทั่วไป เมื่อเป็นเด็กๆ ยังเคยได้ยินเสียงร้อง “มีขวดมาขาย” และคำเรียก “เจ๊กขายขวด” ติดหูมาจนทุกวันนี้

เจ๊กเฮงกับเจ็กเจ็งเข้าหุ้นกันรับซื้อขวดขาย ทำสัญญาใจกันว่า ถ้ามีกำไรยังไม่ถึง ๘๐ ชั่ง จะไม่กินเป็ดกินไก่อันเป็นอาหารที่มีราคาแพง ได้กำไรมาก็เอาไปฝากหลวงพ่อไว้เหมือนกับเป็นธนาคาร

วันหนึ่ง ระหว่างหาบหลัวซื้อขวด เจ๊กเจ็งไปแวะพักที่ข้างโรงบ่อน แล้วเลยเข้าไปเล่นโป เผอิญเล่นได้ จึงเอาเงินที่เล่นโปได้ไปซื้อเป็ดไก่กินด้วยความอยาก แล้วยังซื้อไปฝากเจ๊กเฮงด้วย 

เจ๊กเฮงเห็นว่าเจ๊กเจ็งผิดสัญญาเพราะเงินกำไรยังมีไม่ถึง ๘๐ ชั่ง จึงขอแยกทาง แบ่งเงินที่ฝากหลวงพ่อไว้คนละครึ่งแล้วต่างคนต่างไป

เจ๊กเฮงยังคงหาบหลัวซื้อขวดขายต่อไปด้วยความอดทน จนมีทุนมากขึ้นก็ค่อยขยับขยายกิจการค้าขาย ได้เมียเป็นไทย มีลูกก็ช่วยกันทำมาหากิน จนในที่สุดก็ร่ำรวยเป็นเศรษฐี 

เศรษฐีเฮงมีแก่ใจช่วยอุดหนุนกิจการสาธารณกุศลของทางบ้านเมืองเสมอ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา

พระยาเฮงเป็นคนกตัญญู เมื่อร่ำรวยแล้วก็กลับไปอุปถัมภ์บำรุงวัดที่ตนเคยได้อาศัย และที่สำคัญคิดถึงคุณของไม้คานเป็นที่ยิ่ง ได้เอาไม้คานที่เคยใช้หาบหลัวมาปิดทอง ใส่ตู้ไว้เป็นอย่างดีในที่บูชา

นอกจากนี้ด้วยความที่เคยอดอยากยากจนมาก่อน พระยาเฮงได้ตั้งโรงทานไว้ที่หน้าบ้าน หุงข้าวเลี้ยงคนโซทุกเช้า

ฝ่ายเจ๊กเจ็ง แยกทางกับเพื่อนแล้ว ได้เงินส่วนแบ่งมาก้อนหนึ่ง ก็ไม่เป็นอันที่จะคิดทำอาชีพขายขวดอีก หวนกลับไปเล่นการพนัน ในที่สุดก็หมดตัว สิ้นท่าเข้าก็เลยยึดอาชีพขอทาน 

วันหนึ่งเจ๊กเจ็งโซซัดโซเซไปถึงโรงทานของพระยาเฮง  พระยาเฮงจำเพื่อนได้ ก็ให้บ่าวไปเรียกมา 
เจ๊กเจ็งจำเพื่อนไม่ได้เพราะราศีพระยาจับเป็นสง่า พระยาเฮงก็ไม่แสดงตัวว่าเป็นเพื่อนเก่า สั่งให้รับเจ๊กเจ็งไว้เป็นคนทำสวน

ในสวนบ้านพระยาเฮงมีต้นมะขาม ๒ ต้น ต้นหนึ่งเล็ก ต้นหนึ่งใหญ่  พระยาเฮงออกกฎให้เจ๊กเจ็งกินเฉพาะข้าวกับปลาเค็มต้มใบมะขามอ่อน ให้หุงหากินเอง ข้าวกับปลาเค็มให้เบิกจากโรงครัว ส่วนใบขะขามให้รูดจากต้นเล็กก่อน ถ้าหมดให้มาบอก

เจ๊กเจ็งรูดใบมะขามต้นเล็กไปต้มกับปลาเค็มได้ไม่กี่วัน ใบมะขามก็หมดต้น ก็บอกพระยาเฮง 
พระยาเฮงสั่งให้รูดจากต้นใหญ่ได้ แต่ให้รูดทีละซีก เมื่อซีกหนึ่งหมดจึงจะรูดอีกซีกหนึ่งได้ ใบมะขามหมดให้มาบอก

เจ๊กเจ็งรูดใบมะขามต้นใหญ่กว่าจะหมดซีกก็เป็นเดือน แล้วก็ไปขออนุญาตรูดจากอีกซีกหนึ่ง 
พอซีกนี้หมด ซีกเก่าก็แตกใบอ่อนทันรูดกินได้อีก ก็ไปรูดจากซีกเก่า กว่าซีกเก่าจะหมด ซีกใหม่ก็แตกใบอ่อนอีก เป็นอันว่ารูดใบมะขามต้มปลาเค็มกินได้ทั้งปี
เจ๊กเจ็งไปเบิกข้าวสารและปลาเค็มจากโรงครัวเป็นระยะๆ แต่ไม่เคยไปบอกว่าใบมะขามหมด

วันหนึ่ง พระยาเฮงให้เรียกเจ๊กเจ็งมาถามว่า ทราบว่าเบิกข้าวสารกับปลาเค็มจากโรงครัวตามปกติ แต่ทำไมไม่เห็นมาขออนุญาตรูดใบมะขาม 
เจ๊กเจ็งก็บอกว่าใบมะขามยังไม่หมดสักที

พระยาเฮงจึงพาเจ๊กเจ็งขึ้นไปบนเล่าเต็ง ชี้ให้ดูไม้คานที่ปิดทองอยู่ในตู้ แล้วถามว่า “ไม้คานของลื้ออยู่ไหนล่ะ”  เจ๊กเจ็งจำเพื่อนได้ ก็ร้องไห้ 

พระยาเฮงบอกว่า ที่ให้กินข้าวกับใบมะขามต้มปลาเค็มก็เพราะจะสอนให้รู้สึกตัว เมื่อเงินยังมีน้อย ถ้ากินใช้หมดก็เหมือนมะขามต้นเล็ก รูดใบกินไม่กี่วันก็หมด แต่ถ้าสะสมไว้ทำทุนให้มีกำไรมากขึ้นก็เหมือนมะขามต้นใหญ่ รูดกินได้ทั้งปีก็ไม่หมด 

“อั๊วะจะให้ทุนลื้อไปเริ่มต้นหาบหลัวขายขวดใหม่เหมือนตอนแรกที่มาจากเมืองจีน ลื้อต้องทำตามที่อั๊วะเคยทำมาอย่างเคร่งคัด”

เจ๊กเจ็งก็ไปเริ่มต้นหาบหลัวซื้อขวดขายตามที่พระยาเฮงแนะนำ ต่อมาก็ได้เป็นเศรษฐีอีกคนหนึ่ง

ในอดีต “ไม้คานปิดทอง” คงจะมีอยู่ตามบ้านของเจ้าสัวทั่วไปในเมืองไทย รุ่นลูกก็ยังคงนับถือบูชาเพราะเคยเห็นเตี่ยใช้หาบหลัวเลี้ยงพวกตนมา ทั้งเคยมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากมาด้วยกัน

แต่เมื่อนานหลายรุ่นเข้า ชั้นปลายแถวไม่เคยเห็นภาพหาบหลัว ไม่รู้ว่าความลำบากยากจนเป็นอย่างไร เกิดมาก็เป็นเศรษฐีแล้ว ไม้คานปิดทองของบรรพบุรุษอาจไม่มีความหมายอะไรแม้แต่น้อย 
บางทีจะมีคนปลายแถวเห็นว่าเป็นของเกะกะรกรุงรังด้วยซ้ำไป

สังคมไทย มีสถาบันบางอย่างที่ถูกคนในปัจจุบันนี้มองเหมือนไม้คาน คือเห็นว่ามีไว้ก็ไม่เห็นจะเป็นประโยชน์อะไร  ไม่ใช่เพราะไม่รู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของชาติ  หากแต่เพราะในหัวใจขาดความตระหนักสำนึกถึงคุณค่า ที่เรียกว่า ความกตัญญูรู้คุณ

แม้ทุกวันนี้จะไม่ต้องใช้ไม้คานหาบหลัวอีกแล้ว แต่ไม้คานก็ยังมีคุณค่าเสมอไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง

กวีวัฒน์